พิพิธภัณฑ์ชุมชน

จากการทำงานร่วมกับชุมชนที่ผ่านมา  พบว่า  บางครั้งเราเห็นในสิ่งที่เราอยากเห็น  บางครั้งเราเห็นในสิ่งที่ชุมชนอยากให้เห็น  ฉะนั้นหากอยากค้นพบข้อมูลความจริง  จึงต้องใช้เวลาเพื่อการศึกษา  เราต้องทราบว่าในอดีตและปัจจุบันชุมชนนี้เป็นอย่างไร  นักวิจัยต้องใช้ความคิดเชิงระบบวิเคราะห์ข้อมูล  และสังเคราะห์ข้อเท็จจริง 

เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนที่ยั่งยืน  คนในชุมชนจะต้องออกมาเล่าเรื่องของตนเอง  เล่าเรื่องพ่อแม่  ลุงป้าน้าอา  ปู่ย่าตายาย  บรรพบุรุษ  เล่าประวัติความเป็นมา  เล่าเรื่องสิ่งใกล้ตัว  เล่าว่าเป็นอยู่อย่างไร  ทำมาหากินอย่างไร  ดำรงชีวิตมาถึงปัจจุบันได้อย่างไร  ความเชื่อเรื่องศาสนา  เรื่องผี  ประเพณี  วัฒนธรรม  การสร้างบ้านแปงเมือง  ผู้นำในอดีตเป็นใคร

ในเรื่องพิพิธภัณฑ์นี้  นักวิชาการอาจจะเห็นว่าทำได้ยาก  กรณีข้อมูลจัดแสดง  ก็ต้องนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญ  ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ใช่คนใน  แต่เป็นนักวิชาการที่สามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ชาติมาเป็นหลักในการตรวจสอบข้อมูล  ในการนำเสนอข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ชุมชน  จึงไม่ควรกังวลเรื่องความถูกต้องของข้อมูลมากเกินไปจนไม่กล้านำเสนอ  หากคนในชุมชนได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วก็ควรนำเสนอได้  ทั้งนี้  หากในอนาคตมีการค้นพบข้อเท็จจริงที่มีความน่าเชื่อถือกว่า  คนในชุมชนจะร่วมกันตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลก็สามารถทำได้ 

          แนวทางหนึ่ง  คือ  การให้ความหมายของพิพิธภัณฑ์ชุมชน  อาจจะต้องสร้างความเข้าใจว่า  พิพิธภัณฑ์ชุมชน  ไม่ใช่เพียงสถานที่สำหรับแสดงประวัติความเป็นมาของชุมชนเท่านั้น  พิพิธภัณฑ์ชุมชนอาจใช้เป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวร่วมด้วย  ซึ่งถ้าใครต้องการข้อมูลที่สมบูรณ์ทั้งอดีตและปัจจุบันของชุมชน  จะต้องเดินเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ชุมชน

ภายในพิพิธภัณฑ์ชุมชน  ควรจัดแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์  ของกลุ่มอาชีพทางวัฒนธรรมในชุมชนที่สามารถจำหน่ายได้  โดยอาจใช้ฐานข้อมูลหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในการจัดหา  สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์จำนวนมากจากแหล่งผลิตของกลุ่มอาชีพทางวัฒนธรรม  ก็มีบริการเส้นทางท่องเที่ยว  และมัคคุเทศก์ท้องถิ่น

           พิพิธภัณฑ์ชุมชนบางแห่ง  อาจมีสถานที่เหมาะสมสามารถจัดสัดส่วนเป็นร้านค้าชุมชนได้ด้วย  อาจมีบริเวณโดยรอบเป็นสนามเด็กเล่น  เป็นที่ออกกำลังกาย  หรือในวันหยุดสุดสัปดาห์อาจมีตลาดนัดผักปลอดสารพิษ  โรงเรียนในชุมชนควรกำหนดให้พิพิธภัณฑ์ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน  กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง  และเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วม  ควรเชิญ  นายกองค์การบริหารส่วนตำบล  ผู้นำชุมชน  ผู้อำนวยการโรงเรียน  เจ้าอาวาสวัดในชุมชน  เข้ามามีบทบาทเป็นกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์                

          สำหรับการศึกษาวิจัยชุมชน  การได้ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ชุมชน  ย่อมทำให้การเสาะแสวงหาความรู้ความจริงเพื่อวางแผนพัฒนาดำเนินการได้รวดเร็วทันต่อสภาวการณ์ที่เป็นอยู่  โดยข้อมูลที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนย่อมมีความน่าเชื่อถือพอสมควร  เพราะคนในชุมชนได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นำเสนอมาแล้ว  อาจมีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงบ้างเมื่อเวลาผ่านไป  แต่นักวิจัยก็มีแนวทางในการศึกษา  เห็นความเป็นระบบของชุมชน  เห็นศักยภาพ  ความรักความสามัคคี  ศิลปวัฒนธรรม  ประเพณีอันดีงามที่คงอยู่ในชุมชน

รูปแบบและแนวทางการพัฒนาผ้าพื้นเมืองจังหวัดหนองบัวลำภู
นายวสันต์ บุญล้น (วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู)      9 มกราคม พ.ศ. 2560