ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูมีการทอผ้าทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย กระจายตัวอยู่ทุกอำเภอ แต่กลุ่มที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากทั้งภายในจังหวัดและระดับประเทศ คือ
“กลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่” ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี
พ.ศ.2525 เนื่องจากชาวบ้านตำบลกุดแห่ จำนวน
5 คน ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่เสด็จวัดถ้ำกลองเพล และมีโอกาสถวายชิ้นงานให้กับพระองค์ท่าน
และพระองค์ท่านได้ทรงรับสั่งให้ทอผ้าถวายอีกในวโรกาสต่อไป
นอกจากนี้
พระองค์ได้ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ให้กับชาวบ้านที่ถวายงานเพื่อปลูกหม่อน เลี้ยงไหม
รายละ 6,000 บาท
จำนวน 5 ราย และทรงรับไว้ในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระองค์ท่าน
ชาวบ้านตำบลกุดแห่ รู้สึกปลื้มปีติในพระมหากรุณา จึงรวมตัวจัดตั้งกลุ่มขึ้นครั้งแรกในปี
พ.ศ.2525 นางอำพร วงษ์สมศรี
เป็นประธานกลุ่ม จำนวนสมาชิก 37
คน ในระยะแรกกลุ่มมีการทอผ้าหลายชนิด ได้แก่
ผ้ามัดหมี่ ผ้าหางกระรอก ผ้าขาวม้า
ผ้าโสร่ง ผ้าพื้นเรียบ
และทอผ้าพื้นเมืองให้กับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ
ต่อมาเมื่อหลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล มรณภาพ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ไม่ได้เสด็จวัดถ้ำกลองเพลเพื่อทรงงานอีก แต่ทรงมีรับสั่งให้ส่งชิ้นงาน ณ
พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
จังหวัดสกลนคร
ซึ่งชาวบ้านตำบลกุดแห่ได้ร่วมกันทอผ้าพื้นเมืองส่ง
และยังคงทอผ้าพื้นเมืองให้กับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ
ปี พ.ศ.2532 นางลำดวน
นันทะสุธา เป็นประธานกลุ่ม สมาชิกทอผ้าพื้นเมืองตลอดทั้งปี เริ่มพัฒนาลวดลายผ้าที่มีอยู่ให้มีเอกลักษณ์มากขึ้น ได้แก่
ผ้าลายเกล็ดเต่า
ผ้าลายลูกแก้ว
โดยส่งสมาชิกไปจำหน่าย ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ทุกปี
ปี พ.ศ.2536 สมาชิกกลุ่มเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ผ้าที่ทอขาดลวดลายสร้างสรรค์ แปลกใหม่
กลุ่มจึงได้ไปศึกษาดูงานการทอผ้าขิดไหมที่บ้านหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
ปี พ.ศ.2539 กลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ได้เริ่มส่งผ้าเข้าประกวดที่กองทัพภาคที่
2 ทุกปี
โดยในปีนั้น นางสมบัติ
ฉิมนิล ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทผ้าไหมพื้นเรียบ และสร้อยคอทองคำ 50 สตางค์ พร้อมเหรียญตราสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมเงินรางวัล 3 พันบาท
ปี พ.ศ.2540
นางอุบล วงศ์ละคร สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทผ้าขิดไหม เงินรางวัล
3 หมื่นบาท พร้อมโล่
ปี พ.ศ.2542 นางหลุน
เลพล สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ได้รับรางวัลชมเชย ประเภท
ผ้าขิดไหม เงินรางวัล 4 หมื่นบาท
พร้อมโล่
ปี พ.ศ.2544 นางบังอร
ต้นกัลยา สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทผ้าขิดไหม สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท เงินรางวัล
6 หมื่นบาท พร้อมโล่
นางเอื้อมคำ แดนสวรรค์
สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่
ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ประเภทผ้าขิดไหม สร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท เงินรางวัล 5 หมื่นบาท
พร้อมโล่
นางประดุง สีมี สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทผ้าขิดไหม
เงินรางวัล 4 หมื่นบาท
พร้อมโล่
นางลำดวน นันทะสุธา
ประธานกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ได้รับรางวัลชมเชย
ประเภท
ผ้าขิดไหม เงินรางวัล 4 หมื่นบาท พร้อมโล่
นางสมเภช ดอนมั่น สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทผ้าขิดไหม เงินรางวัล 4 หมื่นบาท
พร้อมโล่
ปี พ.ศ.2545 นางรำพึง
โคตรสุวรรณ
สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่
ได้รับรางวัลชนะเลิศ
ประเภทผ้าขิดไหม สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท เงินรางวัล
6 หมื่นบาท พร้อมโล่
นางประดุง สีมี
สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่
ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทผ้าขิดไหม
สร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท เงินรางวัล 5 หมื่นบาท พร้อมโล่
นางที ป้องสี สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทผ้าขิดไหม
เงินรางวัล 4 หมื่นบาท พร้อมโล่
นายบุญแปง นันทะสุธา สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ได้รับรางวัลชมเชย ประเภท
ผ้าขิดไหม เงินรางวัล
4 หมื่นบาท พร้อมโล่
ปี พ.ศ.2546 นายวีระ
สีมี
สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่
ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภท
ผ้าขิดไหม สร้อยคอทองคำหนัก 4 บาท
เงินรางวัล 5 หมื่นบาท
พร้อมโล่
นางลำดวน นันทะสุธา ประธานกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทผ้าขิดไหม สร้อยคอทองคำหนัก 4 บาท
เงินรางวัล 5 หมื่นบาท
พร้อมโล่
ปี พ.ศ.2547 นายยอดยิ่ง
แดนสวรรค์
สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่
ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทผ้าขิดไหม สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท เงินรางวัล
6 หมื่นบาท พร้อมโล่
นางแอม วาสิงหล สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทผ้าขิดไหม
เงินรางวัล 4 หมื่นบาท พร้อมโล่
นายสงัด แดนสวรรค์
สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่
ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทผ้าขิดไหม
เงินรางวัล 4 หมื่นบาท พร้อมโล่
นางนุจรินทร์ นันทะสุธา
สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่
ได้รับรางวัลชมเชย ประเภท
ผ้าขิดไหม เงินรางวัล
4 หมื่นบาท พร้อมโล่
ปี พ.ศ.2548 นางคำพันธ์
บุญทน
สมาชิกกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่
ได้รับรางวัลชนะเลิศ
ประเภทผ้าขิดไหม
สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท เงินรางวัล
6 หมื่นบาท พร้อมโล่
กล่าวได้ว่า การทอผ้าพื้นเมืองของชาวบ้านตำบลกุดแห่ ได้รับการยอมรับจากสังคมว่ามาจาก
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ลวดลายที่ให้ในผืนผ้ามาจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ความเชื่อ
ประเพณี วัฒนธรรม โดยภายหลังจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่าน
ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ
ซึ่งได้ให้แนวคิดการพัฒนาผ้าพื้นเมือง
ฝึกปฏิบัติให้กับชาวบ้านจนสามารถทอผ้าขิดฝ้ายที่มูลนิธิจัดส่งให้ เพื่อนำไปใช้เป็นผ้าม่านของวังสวนจิตรดา จนในปัจจุบันชาวบ้านมีความชำนาญมากขึ้น
สามารถทอผ้าขิดไหมจนได้รับรางวัลจากการประกวดผ้าพื้นเมืองบ่อยครั้ง ทั้งรางวัลพระราชทาน รางวัลระดับภาค รางวัลระดับประเทศ
ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่
ได้แยกกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม
1.กลุ่มทอผ้าขิดไหมบ้านโพธิ์ค้ำ ประธานกลุ่ม คือ
นางลำดวน นันทะสุธา
2.กลุ่มทอผ้าขิดไหมบ้านศรีอุบล ประธานกลุ่ม
คือ นางเอื้อมคำ แดนสวรรค์
3.กลุ่มทอผ้าขิดไหมบ้านฝายแดง ประธานกลุ่ม
คือ นางประดุง สีมี
4.กลุ่มทอผ้าขิดไหมบ้านกุดแห่ ประธานกลุ่ม
คือ นางสมเภช ดอนมั่น
การดำเนินงานของทั้ง 4 กลุ่ม มีการเชื่อมประสานกันเป็นอย่างดี ทั้งการออกแบบลวดลาย การทอ การส่งเสริมการขาย มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ปัญหาอุปสรรคในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ การแยกกลุ่มในครั้งนี้ทำให้เกิดการสร้างงานในชุมชนทั้ง 4 หมู่บ้านมากขึ้น
การดำเนินงานในปัจจุบัน
“กลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่”
ได้พัฒนาลวดลายใหม่ๆ ที่มีความวิจิตรงดงามกว่า 40 ลาย
เช่น ลายขจรคู่ ลายดาวล้อมเพชร ลายบัวบาน
ลายเพชรพระอุมา ลายอินถวา ลายเพชรมณี
ลายบัวสวรรค์ ลายกระทงทอง ลายสร้อยสังวาล ลายมรดกไทย
และลายอื่นๆ โดยได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้การสร้างลวดลายซึ่งเป็นภูมิปัญญาของกลุ่ม และเทคนิคการทอผ้าที่ได้รับจากกรมหม่อนไหม ดังนี้
หลักใหญ่ของการทอผ้า คือ การนำเส้นด้ายมาขัดกันให้เป็นลวดลาย
เป็นการสานเช่นเดียวกับการจักสาน ใช้เส้นด้ายแทนเส้นตอก โดยขึงเส้นด้ายชุดหนึ่งเป็นเส้นหลัก เรียกว่า เส้นยืน(warp yarn) แล้วใช้เส้นอีกชุดหนึ่ง เรียกว่า เส้นพุ่ง(weft yarn) สอดตามแนวขวางของเส้นยืน ขัดกันไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะให้เส้นยืนยกขึ้น และข่มลงสอดขัดด้วยเส้นพุ่งสลับขึ้นลงกันไปเรื่อยๆ
เกิดลวดลายต่างๆ ขึ้น อาจกล่าวได้ว่า
เส้นยืนเป็นโครงสร้างหลัก ส่วนเส้นพุ่งเป็นเส้นที่มาเติมเป็นผืนผ้า
สำหรับลายขิดของกลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่
นอกจากจะใช้หลักการเช่นเดียวกับการทอผ้าลายขัดทั่วไปข้างต้นแล้ว จะต้องเก็บขิดโดยสะกิดขึ้นลงเป็นคู่ๆ ขึ้นอยู่กับลวดลาย
อุปกรณ์ในการทอผ้า
การทอผ้าที่เก่าแก่มีหน้าผ้าที่แคบและมีจำนวนเส้นด้ายไม่มากนัก จึงเป็นการทอสานที่ไม่มีเครื่องมือช่วย ใช้วิธีการยึดเส้นยืนกับเสาเรือนหรือหลัก ใช้ไม้กลมๆ สอดเส้นยืน เพื่อแยกเป็นเส้นยกและเส้นข่ม เวลาจะสอดเส้นพุ่งจึงใช้ไม้แบนๆ สอดเพื่อเปิดเส้นยืน ปัจจุบันยังพบการทอลักษณะนี้ ในชนกลุ่มน้อย เนื่องจาก ปัจจุบันมีการทอผ้าที่ขนาดหน้าผ้ากว้างมากขึ้น จึงต้องมีการจัดเรียงเส้นด้ายที่มีความยาวและมีปริมาณมากให้เป็นระเบียบให้สามารถทอสานเส้นด้ายให้ขัดกันได้รวดเร็วขึ้น เครื่องมือพื้นฐานที่ใช้ในการทอผ้า ได้แก่ กี่ หรือหูก ใช้ฟืมกระทบให้เนื้อผ้าแน่น ต่อมามีการพัฒนาเป็นกี่แบบต่างๆ เช่น กี่กระตุก จนถึงเครื่องทอผ้า
กี่ทอผ้า
คนไทยพื้นบ้านในภาคกลาง ภาคเหนือ
และภาคอีสาน เรียกว่า กี่ หรือหูก ภาคอีสานบางกลุ่ม เรียกโฮงหูก ในภาคใต้เรียกว่า เก เป็นเครื่องมือสำหรับทอเส้นด้ายให้เป็นผืนโดยการสอดขัดกันของเส้นแนวตั้งและแนวนอน
ช่างทอผ้าพื้นบ้านในประเทศไทย
นิยมใช้กี่ที่ปรับปรุงให้ทอผ้าได้ง่าย และสะดวกขึ้น กี่ที่ใช้กันอยู่จึงมีโครงไม้ที่แข็งแรง มีที่นั่งห้อยเท้าเป็นส่วนใหญ่ กี่ทอผ้าที่พบ แบ่งได้เป็น
1.กี่พื้นบ้าน หรือ กี่กระทบ
มีส่วนประกอบสำคัญ คือ มีโครงสร้างกี่
และ ฟืมสำหรับกระทบบางแห่งใช้กี่แบบพื้นบ้านโบราณที่มีโครงไม้ขนาดเล็ก
จึงเรียกว่า "ฟืมเล็ก"
2.กี่กระตุก เป็นกี่ทอผ้าที่พัฒนามาจากกี่พื้นบ้าน โดย พุ่งสอดด้ายเส้นพุ่ง(เส้นแนวนอน)
ด้วยการกระตุกสายบังคับให้ส่งกระสวยวิ่งไปแล้วกลับมาสลับกับการกระทบฟืม
แทนการพุ่งกระสวยด้วยมือ จึงทำให้ทอผ้าได้รวดเร็วขึ้น
3.กี่เอว เป็นกี่ทอผ้าที่ยังพบในหมู่ชนกลุ่มน้อย ใช้วิธียึดปลายด้ายเส้นยืนด้านหนึ่งด้วยเสาหรือหลักปลายอีกด้านหนึ่งพันรอบเอวและใช้แผ่นหลังผู้ทอดึงด้ายเส้นยืน
จึงเรียกกี่แบบนี้ว่า กี่เอว
กี่พื้นบ้าน เป็นกี่ที่กลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่นิยมใช้ เนื่องจากสามารถสร้างลวดลายได้หลากหลาย ส่วนกี่กระตุกมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ใช้ทอผ้า 4 ตะกอ ส่วนกี่เอว ไม่มีอยู่ในพื้นที่
โครงสร้างและส่วนประกอบที่สำคัญ
ลักษณะกี่ทอผ้าพื้นบ้านในประเทศไทย
ส่วนใหญ่แบบนั่งห้อยขา ใช้ฟืมสำหรับกระทบ ทำด้วยไม้
ปัจจุบันมีทำด้วยวัสดุอื่น เช่น โลหะ อโลหะ
เป็นโครงสี่เหลี่ยม มีสี่เสา มีคานเป็นโครงยึด ซึ่งเป็นลักษณะร่วมคล้ายกับเครื่องมือที่ใช้ทอผ้าของคนทั่วโลก
ได้แก่
1. ไม้กำพั่น ไม้กำพั้น ไม้คำพั่น ไม้ค้ำพั้น หรือ ไม้พั้น ก็เรียก) คำว่า กำพั้น อาจเพี้ยนมาจาก กำพัน คือ
การกำไม้นี้แล้วพันผืนผ้าเข้าไปเป็นไม้กลมใหญ่ใช้ม้วนเก็บผ้าที่ทอแล้ว และยังไม่ได้ตัดออกจากฟืม โดยเก็บไว้ด้านที่คนทอผ้านั่ง ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง
ด้านหนึ่งเจาะรูสำหรับสอดกับหลักให้ยึดติดกับกี่ทอผ้า โดยแกนม้วนผ้ามีขนาดความยาวเท่ากับกี่หรือเท่ากับความกว้างของหน้าผ้า
บางคนเรียกง่ายๆ ว่า “ไม้ม้วนผ้า”
2. ฟืม หรือ ฟันหวี
ใช้กระทบเส้นพุ่งที่สอดขัดกับเส้นยืนให้เรียงกันสนิท
ทำด้วยไม้ หรือ เหล็กเป็นซี่ถี่ๆ คล้ายหวีอยู่ในกรอบไม้ หรือกรอบโลหะ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้เส้นด้ายยืนสอดเข้าตามซี่ฟืม
ไม่พันกัน ในการเตรียมทอผ้า ฟืมจะถูกสอดด้วยด้ายเส้นยืนตั้งแต่แรกก่อนจะทอ เรียกว่า สอดรูฟืม
หรือสอดฟันหวี หรือสอดฟันฟืม เป็นการขึ้นเส้นยืนเตรียมทอผ้า หรือเตรียมเครือ ฟืมมีขนาดความกว้างและความถี่ของซี่ฟันหวีหรือช่องฟันหวีต่างๆ
กัน จึงเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดความกว้างของหน้าผ้า
และเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดเนื้อผ้า ฟืมที่มีความถี่ของช่องฟันหวีมาก เนื้อผ้าที่ทอได้จะมีความแน่น ส่วนที่มีช่องฟันหวีกว้าง(ซี่ฟันห่าง) เนื้อผ้าที่ทอจะมีลักษณะเนื้อผ้าห่างและบางกว่า ขนาดของช่องฟันหวี เป็นส่วนสำคัญในการกำหนดโครงสร้าง และคุณภาพผ้าโดยใช้กำหนดขนาดและจำนวนของด้ายเส้นยืน
ส่วนใหญ่ กลุ่มทอผ้าตำบลกุดแห่ ใช้ฟืม
45
3. ตะกอ หรือเขาหูก และไม้เหยียบ เป็นส่วนประกอบของกี่ทอผ้า ใช้สำหรับแยกด้ายเส้นยืนให้ขึ้นลงสลับกัน ตะกอส่วนใหญ่จะใช้เส้นเชือกทำเป็นห่วงคล้องเส้นยืนกับไม้สอดซึ่งเป็นโครงยึด
๒ อันแล้วผูกโยงกับโครงกี่ และไม้เหยียบหูกตามลำดับ เพื่อจัดกลุ่มด้ายเส้นยืน และเปิดช่องด้ายเส้นยืนสำหรับใส่ด้ายพุ่ง
ส่วนไม้เหยียบ หรือไม้ตีนย่ำ ใช้สำหรับเหยียบให้ตะกอหรือเขายกขึ้น เป็นชั้นแยกจากกัน อาจทำจากไม้ไผ่
หรือไม้จริง ผูกติดกับด้านล่างของตะกอ
ผ้าทอลายขัดส่วนใหญ่มี ๒ ตะกอ หรือ ๒ เขา การเพิ่มจำนวนเขาหรือตะกอ
สามารถเพิ่มลวดลายของเนื้อผ้า เป็นผ้า ๓ ตะกอ เช่น ลายก้างปลา
ผ้า ๔ ตะกอ เช่น ลายดอกพิกุล ลายลูกแก้ว เป็นต้น หากต้องการทอผ้าเป็นลวดลายที่งดงาม จะต้องใช้ตะกอและคานเหยียบจำนวนหลายอัน เรียกว่า หลายตะกอ หรือ หลายเขา(หูก)
ตะกอที่พบมีทั้งชนิดตะกอเชือก และ ตะกอลวด
4. กระสวย บางท้องถิ่นของทางภาคเหนือ เรียก
เฮือ ส่วนภาคใต้ เรียก
ตรน กระสวย เป็นอุปกรณ์สำหรับบรรจุหลอดด้ายพุ่งหรือหลอดด้ายพุ่งพิเศษในการทอผ้า มีหน้าที่
ส่งด้ายพุ่งเข้าไปในด้ายเส้นยืนที่ขึงอยู่บนกี่ทอผ้า ทำด้วยไม้
ปัจจุบันมีทำด้วยพลาสติก
ลักษณะหัวท้ายเรียว
ตรงกลางป่องออก
มีร่องสำหรับใส่หลอดด้าย
ปลายสองด้านมน
ใช้พุ่งไปมาระหว่างการยกด้ายเส้นยืนขึ้นลง
ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบกระสวยสองแบบ
คือ แบบดั้งเดิม มีลักษณะเรียวยาว ปลายงอน
คล้ายเรือ
เป็นกระสวยของกี่พื้นบ้านที่ใช้มือพุ่งกระสวย และกระสวยกี่กระตุกที่มีลักษณะป้อม ขนาดเล็กและสั้นกว่า ปลายมนสั้นคล้ายดินสอทั้งสองด้าน มักพบในการทอด้วยกี่กระตุกเพราะสามารถสอดไว้ในรางกระสวย เพื่อกระตุกชักกระสวยไปมาได้
สะดวกในระหว่างเหยียบคานเหยียบยกด้ายเส้นยืน นอกจากนี้
ยังสามารถแบ่งออกได้เป็นกระสวยแบบรางเดี่ยว คือ
มีหลอดสำหรับใส่ด้ายเพียงอันเดียว
กับกระสวยรางคู่ คือ มีหลอดสำหรับใส่ด้ายสองหลอด ในการทอผ้าที่ไม่มีลวดลายมาก อาจมีกระสวยใช้เพียงหนึ่งหรือสองอัน แต่การทอผ้าที่ต้องการสีสัน และลวดลายแปลกๆ จะต้องมีกระสวยจำนวนมาก
5. ผัง เป็นเครื่องมือทำด้วยไม้ หรือไม้ไผ่เหลาให้เล็ก
ที่ใช้สำหรับขึงผ้าให้หน้าผ้าตึงพอดีกับฟืมในขณะที่ทอ ไม่ให้ริมผ้าหดเข้าหากันเพื่อสะดวกในการทอผ้า ช่วยทำให้เส้นด้ายตรง ลวดลายไม่คดไปมา
ด้านหัวและด้านท้ายของผังจะผูกเข็มไว้เพื่อใช้สอดริมผ้าทั้งสองข้าง
6. ระวิง หรือ
กงกว้าง บางท้องถิ่นทางภาคเหนือเรียก “โก๋งกว้าง”
เป็นเครื่องมือสำหรับกรอเก็บด้ายที่ปั่นแล้วมารวมกันสำหรับตรวจความเรียบร้อยและเก็บส่วนที่เป็นปมหรือขุยด้ายออกให้เรียบร้อย
ก่อนกวักเข้าอักเพื่อให้เส้นด้ายเรียงกันเป็นระเบียบ ก่อนนำไปทำการย้อมสี ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่ลักษณะเป็นซี่ผูกไขว้กันเป็นกากบาท อาจใช้ไม้สามซีกเป็นหกมุม หรือไม้สี่ซีกเป็นแปดมุม ตรงกลางใช้ไม้ไผ่ยึดไว้และยึดทั้งสองข้างให้อยู่ห่างกันตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นใช้เชือกขึงเพื่อให้กงคงรูปอยู่ได้ ในการใช้งานจะต้องมีฐานทำด้วยไม้เป็นขาสองข้าง
มีเดือยยื่นขึ้นมาเพื่อรับกับแกนของระวิงซึ่งจะหมุนอยู่บนฐานนั้น
7. หลอดด้าย หรือ หลอดไหม
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับม้วนเส้นด้าย โดยเสียบไว้กับเหล็กไนเพื่อทำการกรอด้ายพันเข้าหลอดจนได้ปริมาณตามต้องการ
หลอดใหญ่มักนำไปทำด้ายเส้นยืน หลอดเล็กใช้สำหรับใส่ในกระสวยเป็นด้ายเส้นพุ่ง
โดยทั่วไปในการทอผ้า การเลือกใช้เส้นยืนและเส้นพุ่งที่มีขนาดและลักษณะต่างๆ
ทำให้เกิดผ้ารูปแบบต่างๆ ได้ เมื่อผนวกกับเทคนิคการทอที่ต่างกัน
เช่นทอลายขัดธรรมดา ทอลายขัดแบบสานตะกร้า หรือเทคนิคอื่นๆ
ก็จะได้ผืนผ้าที่มีลักษณะต่างกันอีกด้วย
ในขณะทอผ้า เส้นยืนซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของผืนผ้าจะถูกยกขึ้น
กดลง(ข่มลง) จึงต้องเสียดสีกับฟันหวีและต้องทนกับแรงกระทบตลอดเวลา
ดังนั้น เส้นด้ายที่เหมาะสมเป็นเส้นยืน นอกจากควรมีความเหนียว
แข็งแรง ทนทานไม่ขาดง่าย
เรียบหรือ มีปุ่มปมน้อยที่สุดและไม่เป็นขนแล้ว
ควรมีขนาดที่เหมาะสมกับช่องฟัน
หวี การใช้เส้นยืนขนาดใหญ่ทำให้การกระทบทำได้ยาก
และเส้นด้ายจะถูกฟันหวีเสียดสีทุกครั้งที่มีการกระทบ
ทำให้ขาดหรือเป็นขนได้ง่าย เกิดเป็นรอยตำหนิบนผืนผ้า
ส่วนการใช้เส้นด้ายยืนที่มีขนาดเล็กเกินไปมีผลทำให้
โครงสร้างเนื้อผ้าไม่แข็งแรง โดยทั่วไป การทอผ้า ๒ ตะกอ ลายขัดให้ได้ผ้ามีคุณภาพ
มีการใช้เส้นด้ายยืนที่
เหมาะสมกับฟันหวีขนาดต่างๆ
ความรู้เรื่องขั้นตอนการเตรียมเส้นยืนและเส้นพุ่ง
การเตรียมเส้นยืน เส้นพุ่ง
เส้นยืน หรือ เครือเส้นยืน
หมายถึง เส้นด้ายชุดหนึ่งที่ขึงไว้กับกี่ตามแนวตั้ง โดยสอดผ่านช่องฟืมและตะกอที่โยงไว้กับกี่และไม้เหยียบ
ถ้าเป็นไหม เรียก ไหมยืน หรือ ไหมเส้นยืน หรือ ไหมเครือ
ในการทอผ้า ช่างทอจะต้องเตรียมเส้นด้ายยืนเอาไว้ก่อนเสมอ
โดยอาจมีความยาวหลายสิบเมตร ด้ายเส้นยืน
มีความสำคัญในการทอผ้าไม่น้อยไปกว่าด้ายเส้นพุ่ง เมื่อเตรียมแล้ว
จะไม่สามารถเปลี่ยนด้ายเส้นยืน จนกว่าจะ
ทอไปตลอดผืน
การเตรียมเส้นยืน ขั้นตอนการเตรียมเส้นยืน
1.
คัดเลือกเส้นด้ายหรือเส้นไหมที่ค่อนข้างเรียบ เส้นแข็งแรง เหนียว ขนาดเหมาะสม
นำมาฟอกทำความสะอาดและย้อมสี หรือ ลอกกาวและย้อมสีเส้นไหม
2. ลงแป้งและกรอเข้าหลอด
ก่อนจะทอผ้า
ช่างทอจะนำเส้นด้ายกรอเข้าหลอด โดยลงแป้งเส้นด้ายหรือเส้นไหมก่อนกรอ ดังนี้
นำเส้นด้ายหรือเส้นไหมที่ย้อมสีและผึ่งจนแห้งสนิทแล้ว นำมาชุบน้ำและลงแป้ง
โดยอาจแช่ในน้ำข้าว
หรือน้ำแป้งกลับไปมาให้เส้นด้ายหรือเส้นไหมสัมผัสกับน้ำแป้งหรือน้ำข้าวทั่วกัน
จากนั้นนำขึ้นมาบีบน้ำออกและบิดให้แห้ง กระตุกให้เส้นคลี่ตัวออกและไม่ติดกันจึงนำไปผึ่งให้แห้งสนิท
เส้นไหมจะมีผิวเรียบ ต่อจากนั้นเอาเส้นไหมไปกรอเข้าหลอด
ระหว่างการกรอเข้าหลอดด้ายเส้นยืนซึ่งเป็นหลอดด้ายขนาดใหญ่ ต้องหมั่นตรวจสอบดูว่า
เส้นด้ายสม่ำเสมอดี ไม่มีรอยคอด ที่จะทำให้ด้ายขาดเร็ว
และไม่มีปุ่มปมซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการทอ ถ้ามีต้อง
เอาออกและต่อให้เรียบร้อย
3. การเดินด้าย หรือ
โว้นเครือ
เป็นขั้นตอนหลังจากกรอด้ายเข้าหลอดเรียบร้อยแล้ว
เป็นการจัดวางเส้นยืนให้เป็นรูปโครงของผืนผ้า มีการคำนวณความกว้างยาวของผืนผ้าที่ต้องการทอเพื่อสะดวกในการสอดฟันหวี
โดยใช้เครื่องเดินด้าย(ม้าเดินด้าย)ซึ่งมีราวขนาดใหญ่พอดีสำหรับบรรจุหลอดเส้นด้ายไหมและแคร่สำหรับเดินด้าย
ส่วนใหญ่สามารถเดินเส้นยืนได้ราว ๒๐๐ หลา
เมื่อเดินด้ายหรือโว้นเครือได้ความยาวตามต้องการเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องปลดเส้นยืนออกมาจากแคร่และขมวดให้เป็นลูกโซ่หรือถักเป็นเปีย
เพื่อกันมิให้เส้นด้ายยุ่งพันกันหรือจะใช้วิธีเดินด้ายโดยไม่ใช้เครื่องก็ได้
4. การหวี
คือ
การแผ่เส้นจากลักษณะที่เป็นกำให้กระจายออกและเรียบสม่ำเสมอตามความกว้างของฟันหวีกับเครือเส้นยืน
ในการหวีเส้นด้ายจำเป็นที่จะต้องใช้ผู้ปฏิบัติอย่างน้อย 2 คน คนหนึ่งม้วนกงพัน
อีกคนหวีด้ายให้เรียบร้อยและสม่ำเสมอกัน
5. การสอดรูฟืม หรือสอดฟันหวี
หรือสอดฟันฟืม
เป็นการสอดเส้นยืนเข้าช่องฟันหวี
โดยวัดความยาว จากจุดกึ่งกลางของฟันหวีไปหาริม ๒ ข้าง
จากนั้นจึงสอดเส้นยืนเข้าช่องฟันหวีตามความกว้างที่ต้องการ แต่ละช่องฟันหวีสอดเส้นยืน ๒ เส้น
จนหมดด้ายหรือครบทุกช่อง ช่องริมๆ อาจสอดด้าย ๔ เส้นเพื่อให้ริมผ้าแข็งแรง ไม่ม้วน
เมื่อเสร็จแล้วให้ผูกเข้ากับแกนของกงพันม้วนด้ายและนำไปขึงบนกี่เพื่อเก็บตะกอต่อไป
ควรเลือกฟันหวีที่มีขนาดช่องและความกว้างเท่าที่ต้องการ
6. การนำด้ายขึงบนกี่
เมื่อเรานำด้ายที่หวีและร้อยฟันหวีเรียบร้อยตามความยาวที่ต้องการแล้ว
มาขึงบนกี่ที่จะใช้ในการทอผ้าโดยให้ปลายด้ายเส้นยืน(ปลายเครือ)ด้านหนึ่งม้วนเข้ากับไม้ม้วนด้าย
หรือเครื่องม้วนด้ายยืนด้านหน้าและปลายด้ายอีกด้านที่ติดกับฟืมให้ม้วนเข้ากับไม้ม้วนผ้าด้านหลัง
ควรดึงให้ตึงเสมอกันตลอดแนวหน้าผ้าขณะม้วนปลายเส้นด้ายพันรอบไม้
7. การเก็บตะกอ
และผูกโยงตะกอ
การเก็บตะกอ คือ
การจัดเส้นด้ายยืนให้สามารถถูกยกขึ้นหรือถูกกดลงได้อย่างเป็นระบบเพื่อให้สอดด้ายเส้นพุ่งเข้าไปได้
เป็นการเก็บลวดลายหรือแบบที่เราต้องการทอ
จะเก็บตะกอได้เมื่อเรานำด้ายที่จะทอขึงขึ้นบนกี่เสร็จเรียบร้อยแล้ว
การเก็บตะกอ ทำได้ ๒ วิธี คือ วิธีสืบเส้นยืน โดยต่อด้ายเส้นยืนใหม่เข้ากับเส้นยืนเดิมที่เก็บตะกอ(เก็บเขา) ไว้แล้ว โดยต่อทีละเส้นจนหมด บางท้องที่เรียกว่า “สืบหูก” เมื่อต่อเส้นยืนครบแล้วก็สามารถทอได้เลย อีกวิธี คือสอดฟันหวีใหม่ โดยสอดด้ายช่องละ ๒ เส้นและเก็บตะกอใหม่ตามลวดลายที่ต้องการ ในการทอผ้าพื้นบ้าน มักใช้ตะกอด้าย โดยเส้นยืนแต่ละเส้นจะถูกคล้องไว้ด้วยห่วงเส้นด้ายสองอัน อันบนสำหรับดึงเส้นยืนขึ้น อันล่างใช้ดึงลงเป็นการทอลายขัดหรือผ้าพื้นธรรมดาไม่มีลวดลาย ส่วนการทอเป็นลวดลายต่างๆ ต้องเก็บตะกอตามลักษณะลายที่ต้องการและผูกโยงตะกอให้เรียบร้อย โดยตะกอด้านบนจะผูกโยงเข้ากับคานบน ส่วนตะกอด้านล่างจะผูกโยงเข้ากับไม้เหยียบ หลังจากเก็บตะกอแล้วเส้นยืนจะถูกแต่งให้เรียบร้อยบนกี่สำหรับทอต่อไป
การเตรียมเส้นพุ่ง
เส้นพุ่ง หมายถึง
เส้นด้ายที่พุ่งผ่านกระสวยที่บรรจุหลอดด้ายไว้
ด้ายในกระสวยจะพุ่งในแนวนอนจากซ้ายไปขวาและจากขวามาซ้ายผ่านเส้นยืนที่ยกสลับกันเมื่อเหยียบคานเหยียบ
ไม่ยุ่งยากเหมือนเส้นยืน
ไม่ต้องลงแป้งเนื่องจากไม่ต้องเสียดสีกับฟันหวีมากเหมือนเส้นยืนการเตรียม
เส้นพุ่ง มีขั้นตอนดังนี้
กรอเส้นด้ายหรือด้ายไหมที่ย้อมสีเรียบร้อยแล้วเข้าระวิงและอักตามลำดับ จากนั้นกรอ
จากอักเข้าหลอดโดยใช้หลาหรือไนเป็นอุปกรณ์ช่วยในการกรอด้ายเข้าหลอด หรือเรียกว่าปั่นหลอด(ซึ่งจะทำให้เส้นกลมเรียบมากขึ้นไปในตัว)
หรือ อาจนำเส้นด้ายหรือเส้นไหมที่ย้อมสีแล้วมาควบและตีเกลียวก่อนกรอเข้าหลอด
ควรกรอด้ายเข้าหลอดพอประมาณ คือไม่เต็มเกินไป จะทำให้ลำบากในการเข้ากระสวย
และติดขัดได้ในการพุ่งสอดด้ายขณะทอผ้า
เส้นพุ่งที่ใช้ควรมีขนาดหรือลักษณะเส้นที่เหมาะสมกับขนาดของเส้นยืน
ทั้งนี้ขึ้นกับแบบชนิดผ้าและ
ลวดลายผ้าที่ต้องการ
การทอผ้า
เมื่อเตรียมเส้นยืน
โดยขึงบนกี่ เก็บและผุกโยงตะกอเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนการทอผ้า ดังนี้ คือ
1.
เริ่มทอโดยผลักฟืมไปด้านหลัง(ออกจากลำตัวผู้ทอ) เหยียบไม้เหยียบ (หรือไม้ตีนย่ำ)
เพื่อสับตะกอให้เส้นยืนแยกออกจากกัน คือ ตะกอจะดึงเส้นยืนชุดหนึ่งขึ้น
ตะกออีกชุดหนึ่งจะดึงเส้นยืนอีกชุดลงตามแรงเหยียบ เป็นการเปิดช่องให้สอดกระสวยด้ายเส้นพุ่งผ่านไปได้
2.
พุ่งกระสวยให้ด้านเส้นพุ่งลอดผ่านชั้นของด้ายยืน
3. ผ่อนไม้เหยียบ
ปล่อยตะกอให้เส้นยืนรวมกันเป็นกลุ่มตามเดิม แล้วดึงฟืมเข้าหาตัวผู้ทอ
กระทบเส้นพุ่งให้ชิดกันแน่นด้านหน้าผ้าและขัดกับเส้นยืน สานเป็นผืนผ้า
4.
สลับเท้าเหยียบไม้เหยียบอีกอันหนึ่ง เป็นการสลับตะกอ
เส้นยืนจะสลับกันและแยกออกจากกัน เปิดเป็นช่องให้พุ่งเส้นพุ่งผ่านไปได้ หลังจากนั้น กระทบฟืมหรือตำฟืมหรือกระตุกฟืมเข้าหาตัว
5. การสอดด้ายเส้นพุ่ง ต้องสอดกลับไปกลับมาอยู่เสมอ เมื่อสอด 1 ครั้งก็ต้องเหยียบไม้เหยียบ 1 ครั้งและใช้ฟืมกระทบจัดให้เส้นด้ายชิดกัน เมื่อทอผืนผ้าได้ความยาวระยะหนึ่งที่มือยื่นไปไม่ถึง ให้ปลดเส้นด้ายยืนที่ขึงให้หย่อนก่อน แล้วจึงม้วนผ้าเข้าไปในไม้กำพั่นหรือไม้ม้วนผ้าให้ตึง ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทอเสร็จแล้วจึงเอาม้วนผ้าที่ทอได้ออก