ประวัติชุมชนบ้านนาคำไฮ

                                                                                                                                                                             นางเหมี่ยง   ทองผล  ผู้บอกเล่า

                                                                                                                                                                                   นายบุญตา   ทวีบุตร  ผู้แต่ง 

                                                                                                                                                                                                7  เมษายน  2542


                                                                                                                                                                     วสันต์   บุญล้น  ผู้เรียบเรียงเบื้องต้น   

                                                                                                                                                                                                31 มกราคม  2560

          นับตั้งแต่การมาตั้งหมู่บ้านนี้  เมื่อปี  พ.ศ. 2483  นั้น 

ภูมิประเทศเป็นป่ากว้างมากไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด  ป่าแถบนี้เป็นป่าเต็งรัง  มีที่นาของตาด้วง  4  แปลง  ที่แกถางไว้เลี้ยงวัวตรงกุดหญ้าไซ  ต่อมามีชาวบ้านนาจิก  อำเภออำนาจเจริญ  จังหวัดอุบลราชธานี  ออกมาหาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่  โดยมุ่งหน้าไปทางอำเภอภูเขียว  ซึ่งมีชื่อในสมัยนั้นว่าอำเภอผักปัง  พอไปเห็นก็เกิดความพอใจ  จึงกลับไปอพยพครอบครัวเดินทางมา  ครอบครัวทั้ง  8  ประกอบด้วย

                   1.นายโห  หรือสีโห  พันโนเรศ

                   2.นายพูน - นางน้อย  สุภาผล

                   3.นายห้าว - นางกอง  ทวีบท

                   4.นายป้อง - นางพร  ทองผล

                   5.นายจารย์น้อย  นางทัน  อรภา

                   6.นายลิด 

                   7.(ผู้เขียนจดจำไม่ได้)

                   8.นายทา  กำหอม (หลวงปู่ทา  อดีตเจ้าอาวาสวัดเชตวนาราม)  จากบ้านห้วยซัน  ภูเวียง

           ในคราวที่อพยพออกจากบ้านนาจิกนั้น  ญาติๆ  ได้ตามมาส่งเป็นระยะทาง  3  คืน  จึงกลับไป  พี่น้องบางคนต่างโอบกอดร้องไห้ร่ำลากัน  ด้วยระยะทางจากจังหวัดอุบลราชธานีมายังถิ่นฐานบ้านใหม่นั้นห่างไกลกันมาก  ชาตินี้อาจจะไม่ได้พบหน้ากันอีกเลยก็เป็นได้  ดังคำกลอนที่ได้ประพันธ์ไว้ในเล่มนี้ว่า 

               “คนไปตายอยู่ข้างหน้า  บ่มีมื่อได้พบกัน”

           แล้วก็เป็นจริงตามนั้นก็มี  เช่น นางกอง  มารดาของผู้เขียน ได้ร่ำลาน้องสาว  คือนางกาดำ  ไชยแสง  ด้วยน้ำตานองหน้าก่อนจากกัน  นางกองได้มาเสียชีวิตที่บ้านนาคำไฮ  โดยไม่พบหน้านางกาดำ  น้องสาวอีกเลย  การอำลาจากกันในคราวนั้น  จึงเป็นการจากลากันของสองพี่น้องจนชั่วนิรันดร์  ทั้งนี้ก็เพราะการคมนาคมยังไม่เจริญนั่นเอง

           คณะผู้อพยพได้ออกเดินทางจากบ้านนาจิก  เมื่อเดือน 3  ขึ้น 3 ค่ำ  ปีฉลู  พ.ศ.2480  ในครั้งนั้น  ได้มีพระภิกษุ  2  องค์  คือ

               1.พระสุทธิ์  ธมฺมจารี(ชัยแสง)  หรือ  หลวงปู่พระครูพินิตสุทธิธรรม

               2.พระภิกษุจันทร์ (โปก)  ทวีบท 

           ได้ร่วมเดินทางมาเป็นมิ่งขวัญในขบวนผู้อพยพนั้นด้วย  โดยได้ผ่าน  เขตเมืองร้อยเอ็ด  ยางตลาด  ข้ามลำน้ำชี  ลำน้ำปาว  ลำน้ำพอง  จนไปถึงอำเภอผักปัง  จังหวัดชัยภูมิ  โดยได้ไปพักอยู่บ้านหนองศาลา  จากนั้นก็แตกแยกความคิดกัน  บางครอบครัวคิดจะกลับถิ่นเดิม  บางครอบครัวหวังไปตายดาบหน้า  ในที่สุดตกลงเดินทางไป  บ้านสวนกล้วยห้วยซัน  ภูเวียง  โดยครอบครัวนายโห  ไปอยู่บ้านหันบ้านเรือ  พากันปลูกกระท่อม  อาศัยผู้มาอยู่ก่อน  แบ่งที่นาให้ทำมาหากินไปพลางก่อน 

           พอเสร็จหน้านา  จึงพากันออกเสาะแสวงหาที่จะตั้งรกรากต่อไป  โดยออกไปเฉพาะหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น  โดยมุ่งหน้าไปยังเขตเมืองหนองบัวลำภู  และได้ไปพบพ่อเฒ่าชาวบ้านนาวังเวิน  คนหนึ่ง  แกแนะนำว่า  จากนี้ไปทางทิศตะวันตก  ระหว่างบ้านหนองภัยศูนย์  กับบ้านกกค้อ  เช่น  ห้วยไฮ  เป็นต้น  เป็นที่ยังว่างเปล่าอยู่  จึงพากันไปดูและเกิดชอบพอ  จึงพากันจับจอง  เกี่ยวหญ้ามุงกระท่อมเสร็จแล้วกลับไปอพยพครอบครัวจากภูเวียงมาตั้งหลักปักฐาน 

            การผจญภัยในคราวมาตั้งหมู่บ้านนั้นมีมาก  เป็นต้นว่า  เจ็บป่วยล้มตายเพราะไข้ป่า  เผชิญกับความอดอยากและภัยจากธรรมชาติ  เช่น  พายุ เป็นต้น  ตลอดจนได้ถึงแก่มรณภาพของ  ญาคูโปก  หรือ  พระภิกษุจันทร์  ทวีบท  อีกองค์หนึ่งด้วย 

           ชาวบ้านได้เลือกที่ตั้งวัด  และดอนปู่ตาตามธรรมเนียมโบราณ  โดยสับเปลี่ยนไปตามที่ต่างๆ 

           ในการไปตั้งหมู่บ้านนี้  ได้อาศัยน้ำ  จากกุดหินตั้งเป็นหลัก  ซึ่งชาวบ้านได้ถือกันว่า  กุดหินตั้ง  คือ  แหล่งน้ำดั้งเดิมของหมู่บ้าน

           ในด้านการปกครอง  ได้เลือกเอา 

               นายกอง   โชติกาล  เป็นผู้ใหญ่บ้าน 

               นายเคน   สุภาผล  และนายสอน   บุญทอง  เป็นสารวัตร

               นายจารย์สม   พละศูนย์  เป็นทายก

               นายห้าว   ทวีบท  เป็นจ้ำ  หรืออารักษ์ศาลปู่ตา  โดยมีนายแดง   โสภามาตร  เป็นผู้ช่วย

           การเลือกชื่อหมู่บ้านนั้น  เนื่องจากขณะนั้นมีหญ้าไซขึ้นอยู่มาก  รอบๆ  บริเวณแหล่งน้ำ  จึงมีผู้เสนอว่า  ควรชื่อว่า 

               “บ้านกุดหญ้าไซ”

           แต่มีผู้เสนออีกว่า  ที่แห่งนี้มีแหล่งน้ำธรรมชาติถึง  3  แหล่ง  คือ  หนองฝายใหญ่,  กุดหินตั้ง,  ลำห้วยไฮ  และชุมชนที่ตั้งหมู่บ้านนี้อยู่ใกล้ห้วยไฮ  มากที่สุด  จึงควรชื่อว่า 

               “บ้านคำไฮ” 

           และว่าผู้อพยพมาแรกเริ่มมาจาก  บ้านนาจิก  ควรจะมีคำว่า  “นา”  นำหน้าชื่อ  เพื่อเป็นการรำลึกถึงบ้านนาจิก  ถิ่นเดิม  จึงได้ตั้งชื่อว่า

               “บ้านนาคำไฮ”  สืบมา

 

-
นายวสันต์ บุญล้น (วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู)      7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560